คืนวันที่ 25 มิถุนายน เวลา 14:00 BST หรือเวลา 20:00 น. ประเทศไทย มีการจัดงานประกาศรางวัล The Trinity Challenge จากผู้เข้ารอบสุดท้าย 16 โครงการ จาก 340 โครงการทั่วโลกที่ส่งเข้าประกวด โดยโครงการผ่อดีดี (PODD) จากบริษัทโอเพ่นดรีม และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้รับทุนเพื่อขยายโครงการ 1.3 ล้านปอนด์
ผมอยากขอบคุณทีมผ่อดีดีทุกคน ตั้งแต่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปจนถึง Ending Pandemics ที่ซานฟรานซิสโก ผมยังจำได้ถึงการประชุมกันในปี 2014 ว่าทำยังไงที่เราจะนำเทคโนโลยีมาช่วยให้เกษตรกรและชุมชนเกิดการเฝ้าระวังร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมเพื่อหยุดยั้งโรคระบาด แย่ที่เราไม่สามารถหยุดยั้งโรคโควิด 19 ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วทีมผ่อดีดีมั่นใจว่าจะสามารถเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าชุมชนทั่วโลกจะสามารถช่วยกันหยุดโรคระบาดได้ที่ตั้งแต่จุดเริ่มต้น
– ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการผ่อดีดี
โครงการผ่อดีดี (ผ่อ = ดู ในภาษาเหนือ ผ่อดีดี = ดูดีๆ เน่อ)
โครงการผ่อดีดีเริ่มตั้งแต่ในปี 2014 และเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการต้นปี 2015 ในชื่อโครงการนำร่องการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดสัตว์ที่ติดต่อถึงคนหรือที่กระทบรายได้ชาวบ้าน ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถตรวจจับและเฝ้าระวังควบคุมโรค เพื่อป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน ที่เป็นต้นกำเนิดของโรคระบาดใหญ่มาหลายครั้ง เช่น HIV-AIDS, SARS หรือ ไข้หวัดนก
ระบบผ่อดีดีเป็นระบบเฝ้าระวังควบคุมโรคด้วยการร่วมมือกันในชุมชน โดยสมาชิกชุมชนช่วยกันเฝ้าระวังสังเกตอาการ และถ่ายรูปส่งรายงานเข้าสู่ระบบเมื่อเกิดเหตุไม่ปกติขึ้น จากนั้นระบบและผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาข้อมูลและยืนยันว่ารายงานที่ส่งมานั้นเป็นโรคระบาดหรือไม่ หากเป็นโรคระบาดแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานจะร่วมหารือกันเพื่อกำหนดแนวทางในการรับมือและหยุดยั้งโรคระบาดร่วมกัน และคอยติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังต่อไป
เราไม่จำเป็นต้องฝึกให้ทุกคนในชุมชนมีความรู้ในเรื่องโรคระบาด แต่เราสามารถให้ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา คอยช่วยกันเฝ้าระวังก่อนที่จะเกิดการระบาดที่สร้างความเสียหายขึ้นได้
เราเริ่มตั้งแต่ฝึกให้เกษตรกรที่ไม่รู้จักการใช้สมาร์ทโฟนสามารถรายงานผ่านแอปพลิเคชันได้ จนเขาสามารถช่วยกันเฝ้าระวังและรายงานเหตุการณ์ไม่ปกติเข้ามาได้ ช่วยกันหยุดยั้งโรคระบาดในชุมชนของเขาได้
– รศ.น.สพ.ดร.เลิศรัก ศรีกิจการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการผ่อดีดี
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการผ่อดีดีเพิ่มเติมได้ที่ โครงการผ่อดีดี และที่ ศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผ่อดีดีได้รับรางวัล ความสนใจ และปรากฏในสื่อต่างๆ ดังนี้
Trinity Challenge 2021
PODD Grand Prize Winner
Last Week Tonight with John Oliver (HBO), 2021
PODD on Last Week Tonight
MIT Solve Competition 2020
PODD Finalist MIT Solve
PBS NewsHour, 2019
PODD on PBS NewsHour
ASEAN ICT Awards, 2017
PODD Bronze Award in Corporate Social Responsibility
NHK World, 2017
PODD on NHK World
BBC News, 2017
PODD on BBC
The Trinity Challenge
The Trinity Challenge เป็นความร่วมมือการรวมกลุ่มของหลากหลายองค์กรทั้งจากกลุ่มผู้นำที่มีอิทธิผลของโลกในด้านธุรกิจ สถาบันการศึกษาชั้นนำ และกลุ่มผู้ทำงานด้านสังคม โดยมีจุดประสงค์ร่วมกันที่จะพัฒนาข้อมูลและแผนการรับมือเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดหรือสถานการณ์วิกฤติทางด้านสุขภาพทั่วโลก
การจะเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดนั้นไม่เพียงแต่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวตกรรมทางด้านยา โดย Ther Trinity Challenge มีแนวคิดว่า การที่เราสามารถระบุและจำกัดสาเหตุของการระบาด (Identify), การรับมือด้วยการลดการแพร่กระจายด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ (Respond to), และการฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและระบบเศรษฐกิจและการคำนึงถึงผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง (Recover) ได้ก่อนที่การระบาดจะแพร่กระจายจนเป็นภาวะวิกฤติทั่วโลกได้ จะเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุด และสิ่งสำคัญที่จะช่วยได้ก็คือ ข้อมูล และระบบการวิเคราะห์ข้อมูล
340 โครงการจากทั่วโลกถูกส่งเข้ามาเพื่อร่วมกันหาวิธีที่จะรับมือที่ดีขึ้นกับการระบาดในอนาคต ไม่ว่าจะด้วยการ Identify, Respond to, หรือ Recovery โอเพ่นดรีมและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมส่งโครงการผ่อดีดีซึ่งนับว่าเป็นหมวดหมู่ Indentify เข้าร่วมด้วย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ The Trinity Challenge ได้ที่ The Trinity Challenge
PODD Toolkit as a Service
โครงการผ่อดีดีเสนอการเข้าถึงและนำระบบผ่อดีดีไปปรับใช้ได้เองจากชุมชนทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการขยายเครือข่ายการเฝ้าระวังร่วมกันออกไปได้อย่างมากและเพิ่มโอกาสในการหยุดยั้งโรคระบาดได้ โดยโครงการผ่อดีดีจะสร้าง Toolkit ขึ้น ที่แต่ละชุมชนทั่วโลกสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์และบริบทของชุมชนได้ด้วยตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (open source) โดยชุมชนที่ต้องการสนับสนุนในการวางระบบและการจัดการ ก็สามารถเข้าถึงระบบผ่อดีดีได้ในรูปแบบบริการ One Health as a Service (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ PODD Toolkit)
เราอยากให้ทั้งโลกได้ใช้ผ่อดีดี และด้วยการสนับสนุนของ The Trinity Challenge เราจะสร้าง PODD Toolkit ให้ทุกชุมชนสามารถนำระบบผ่อดีดีไปใช้ในบริบทของตนเองและลดความเสี่ยงของการระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
– ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการผ่อดีดี
การจะหยุดยั้งโรคระบาดได้นั้น การช่วยกันเฝ้าระวังอย่างมีส่วนร่วมจะต้องเกิดขึ้นทั้งสองทิศทาง คือทั้งจากบนลงล่าง และจากล่างขึ้นบน โดยระบบผ่อดีดีเน้นไปในทิศทางจากล่างขึ้นบนที่เอื้อให้ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวังโรคระบาดได้ หากใครต้องการปรับใช้ระบบผ่อดีดีกับชุมชนของท่านและเชื่อในพลังความร่วมมือของชุมชนสามารถติดต่อเราได้ที่ poddtoolkit.org ได้ครับ
– ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการผ่อดีดี
ติดตามผู้เข้าร่วม The Trinity Challenge ที่ได้รับรางวัลที่ 2 และที่ 3 ได้ที่ ผู้ชนะโครงการ The Trinity Challenge
ชมการประกาศรางวัลย้อนหลังได้ที่ พิธีประกาศรางวัล The Trinity Challenge